ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย หากเริ่มมีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว ความต้องการ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็มักเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้แตกต่างจากวิกฤตเมื่อปี 2540 ค่อนข้างมากตรงที่ภาคครัวเรือนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างเร็ว ในทำนองเดียวกันช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าใกล้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ สะท้อนจากราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราเร่ง ซึ่งเราพบว่า หลังจากนั้น 2-3 ไตรมาส ก็มักจะเกิดวิกฤติตามมาดังเหตุการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในเอเชีย วิกฤตในละตินอเมริกา และวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ
สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ของไทย เมื่อพิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย (HDSI) มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1)ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ หรืออาจเรียกว่าเป็นมาตรการจูงใจด้านภาษี เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอน ลดค่าจดจำนอง ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2552 2) การออกโปรโมชั่นจูงใจเพื่อเร่งปิดการขายของผู้ประกอบการ 3)แนวโน้มการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่จะได้รับแรงกดดันจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน และความต้องการใช้ที่สูงขึ้นในตลาดโลก
แม้ว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ของไทยจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553 ทำให้ผู้บริโภคที่มีความพร้อม ดัดสินใจซื้อเร็วขึ้น สะท้อนจากปริมาณธุรกรรม และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแผนการขยายการลงทุนเพิ่ม ตอบรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดอุปทานล้นตลาด ผนวกกับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งมีบทเรียนจากวิกฤตในปี 2540 ทำให้กำลังซื้อไม่ปรับเพิ่มในอัตราเร่ง